วันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2558

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ

ประวัติพระราชินี
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ เป็นพระธิดาองค์ใหญ่ของพลเอกพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ (หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร) กับหม่อมหลวงบัว กิติยากร พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาพระราชทานนามว่า “สิริกิต์” ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้เป็นศรีแห่ง กิติยากร”
๑. หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร
๒. หม่อมราชวงศ์ กัลยาณกิติย์ กิติยากร
๓. หม่อมราชวงศ์ อดุลกิต์ กิติยากร
๔. หม่อมราชวงศ์ สิริกิต์ กิติยากร
๕. หม่อมราชวงศ์ บุษบา กิติยากร
ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ที่บ้านพลเอกเจ้าพระยาวงศานุประพันธ์ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์) ผู้เป็นบิดาของหม่อมหลวงบัว ณ บ้านเลขที่ 1808 ถนนพระราหก ตำบลวังใหม่ อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ขณะนั้น เป็นระยะที่ประเทศเพิ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย ก่อนหน้านั้นพระบิดาของพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก มียศเป็นพันเอกหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร
หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๕ หม่อมเจ้านักขัตรมงคลต้องทรงออกจากราชการทหาร โดยรัฐบาลแต่งตั้งให้ไปรับราชการในตำแหน่งเลขานุการเอก ประจำสถานทูตสยาม ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วนหม่อมหลวงบัว ยังคงพำนักอยู่ในประเทศไทย จนให้กำเนิดหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์แล้วจึงเดินทางไปสมทบมอบหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ให้อยู่ในความดูแลของเจ้าพระยาวงศา นุประพันธ์และท้าววนิดา พิจาริณี ผู้เป็นบิดาและมารดาของหม่อมหลวงบัว
หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ต้องอยู่ห่างไกลพระบิดามารดาตั้งแต่อายุพียงน้อยนิด บางคราวต้องระหกระเหินไปต่างจังหวัดกับพระบรมวงศานุวงศ์ตามเหตุการณ์ผันผวนทางการเมือง เช่น ในปีพุทธศักราช ๒๔๗๖ หม่อมเจ้าอัปษรสมาน กิติยากร พระมารดาของหม่อมเจ้านักขัตรมงคล ได้ทรงรับนัดดาตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไปสงขลาด้วย
ปลายปีพุทธศักราช ๒๔๗๗ หม่อมจ้านักขัตรมงคล ทรงลาออกจากราชการ กลับประเทศไทยพร้อมครอบครัว อันมีหม่อมราชวงศ์กัลยาณกิติ์บุตรคนโตและหม่อมราชวงศ์บุษบาบุตรีคนเล็กผู้เกิดที่สหรัฐอเมริกาแล้วมารับหม่อมราชวงศ์อดุลยกิติ์บุตรคนรอง กับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์จากหม่อมเจ้าอัปษรสมาน กลับมาอยู่รวมกันที่ตำหนักซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนกรุงเกษม ปากคลองผดุงกรุงเกษม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เริ่มเรียนชั้นอนุบาลที่โรงเรียนราชินี ปากคลองตลาดในพุทธศักราช ๒๔๗๙ แต่เมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพาลุกลามมาถึงประเทศไทย จังหวัดพระนครถูกโจมตีทางอากาศบ่อย ๆ ทำให้การเดินทางไม่สะดวกและปลอดภัย หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ จึงต้องย้ายไปโรงเรียนที่โรงเรียนเซ็นต์ฟรังซิสซาเวียร์คอนแวนต์ และในเวลาต่อมาได้ตั้งใจที่จะเป็นนักเปียโนผู้มีชื่อเสียง
หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ได้เผชิญสภาพของสงครามโลกเช่นเดียวกับคนไทยทั้งหลาย พระบิดาผู้ทรงเป็นทหารเป็นผู้ปลูกฝังให้บุตร และบุตรีรู้จักความมีวินัย ความอดทน ความกล้าหาญ และความเสียสละ โดยอาศัยเหตุการณ์ในสงครามเป็นตัวอย่าง และสงครามก็ทำให้ผู้คนต้องหันหน้าเข้าช่วยเหลือกันในยามทุกข์ยากสิ่งเหล่านี้หล่อหลอมให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์มีความเมตตาต่อผู้อื่น และรักความมีระเบียบแบบแผนมาตั้งแต่เยาว์วัย
หลังจากสงครามสงบแล้ว นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น คือ นายควง อภัยวงศ์ ได้แต่งตั้งให้หม่อมเจ้านักขัตรมงคลเป็นรัฐทูตวิสามัญและอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มประจำสำนักเซ็นต์เจมส์ ประเทศอังกฤษ หม่อมเจ้านักขัตรมงคลจึงทรงพาครอบครัวทั้งหมดไปด้วยในกลางปีพุทธศักราช ๒๔๘๙ ขณะนั้นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ เรียนจบชั้นมัธยมปีที่ ๓ ของโรงเรียนเซ็นต์ฟรังซิสซาเวียร์คอนแวนต์แล้ว
ระหว่างที่อยู่ในประเทศอังกฤษ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ตั้งใจเรียนเปียโน ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศสกับครูพิเศษ แต่อยู่อังกฤษได้ไม่นานหม่อมเจ้านักขัตร มงคลก็ทรงย้ายไปประเทศเดนมาร์กและประเทศฝรั่งเศสตามลำดับ ระหว่างนี้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ยังคงตั้งใจเรียนเปียโนอย่างขะมักเขม้นเพื่อเตรียมสอบเข้าวิทยาลัยการดนตรีที่มีชื่อเสียงของกรุงปารีส
พุทธศักราช ๒๔๙๑ ขณะที่หม่อมเจ้านักขัตรมงคลและครอบครัวอยู่ในปารีส ได้รับเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งโปรดเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโรงงานทำรถยนต์ในกรุงปารีสอยู่เสมอ จนเป็นที่คุ้นเคยต่อพระยุคลบาทและต้องพระราชอัธยาศัย ฉะนั้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประสบอุปัทวเหตุทางรถยนต์ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ต้องประทับรักษาพระองค์ในสถานพยาบาล จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หม่อมหลวงบัวพาบุตรีทั้งสง คือหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ และหม่อมราชวงศ์บุษบา เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทเยี่ยมอาการเป็นประจำ จนพระอาการประชวรทุเลาลง เสด็จกลับพระตำหนักได้ สมเด็จพระราชชนนีได้รับสั่งขอให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์อยู่ศึกษาต่อที่เมืองโลซานน์ในโรงเรียนประจำ Riante Rive ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในการสอนวิชาพิเศษแก่กุลสตรี คือ ภาษา ศิลปะ ดนตรี ประวัติวรรณคดี และประวัติศาสตร์
ต่อมาอีก ๑ ปี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้านักขัตรมงคลและครอบครัวมาเฝ้าฯ แล้วสมเด็จพระราชชนนีรับสั่งขอหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ต่อหม่อมเจ้านักขัตรมงคล และประกอบพระราชพิธีหมั้นอย่างเงียบ ๆ ในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๒ ทรงใช้พระธำมรงค์ที่สมเด็จพระราชบิดาทรงหมั้นสมเด็จพระราชชนนี เป็นพระธำมรงค์หมั้น แล้วคงให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ศึกษาต่อไป จนเสด็จนิวัตพระนคร จึงโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ตามเสด็จกลับมาถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ในเดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓
วันที่ ๒๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๓ มีพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ วังสระปทุม สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงเป็นประธานพระราชทานน้ำพระพุทธมนต์และเทพมนต์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ได้ทรงจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย และในวันนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เป็นสมเด็จพระราชินี
วันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ เป็นวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับเฉลิมพระบรมนามาภิไธยว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” และทรงสถาปนาเฉลิมพระยศสมเด็จพระราชินีเป็น “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี”
วันที่ ๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๙๓ ทั้งสองพระองค์เสด็จกลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพราะแพทย์ผู้รักษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกราบบังคมทูลแนะนำให้ทรงพักรักษาพระองค์อีกระยะหนึ่ง พุทธศักราช ๒๔๙๔ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี มีพระประสูติกาลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อเจริญพระชันษาได้ ๗ เดือน ทั้งสามพระองค์จึงเสด็จนิวัตประเทศ ประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต หลังจากนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ฯ ซึ่งต่อมาทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนราชสุดาฯ ซึ่งต่อมาทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ฯ ได้ประสูติต่อมาตามลำดับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน รวมพระราชโอรสและพระราชธิดา ๔ พระองค์
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เป็นลำดับมา ทั้งในฐานะที่ทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชินีของไทยและในฐานะคู่พระราชหฤทัยแห่งพระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัว กล่าวคือ ทรงช่วยแบ่งเบาพระราชภาระทั้งหลายไปได้มาก อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย ทรัพยากรธรรมชาติ และการพัฒนาประเทศอยู่เนือง ๆ เห็นได้ชัดจากพระราชกรณียกิจที่เผยแพร่สู่สายตาประชาชนอยู่ทุกวันนี้





ความหมายของเพลงสรรเสริญพระบารมี

คนไทยทุกคนคงไม่มีใครไม่รู้จักเพลงสรรเสริญพระบารมี เนื่องจากเราทุกคนเคยร้องและฟังตั้งแต่เล็กจนโต แต่จะมีซักกี่คน ที่รู้ความหมายของเพลงนี้

มาร่วมกันเข้าใจความหมายของเพลงสรรเสริญพระบารมี เพื่อที่จะได้ซาบซึ้งใจ ร้องและฟังในครั้งต่อไปด้วยความเข้าใจ ใส่ใจ ถวายแก่พระเจ้าอยู่หัวของเรา

ความหมายในแต่ละประโยค

ข้าวรพุทธเจ้า
ภาษาปกติ = ข้าพระพุทธเจ้า
ความหมาย = ข้าน้อย

เอามโนและศิระกราน
ภาษาปกติ = ขอเอาหัวกราบลงด้วยใจ..
ความหมาย = ขอเอาใจ(มโน)และหัว(ศิระ)กราบ(กราน)

นบพระภูมิบาล บุญญดิเรก
ภาษาปกติ = น้อมกราบพระผู้ปกครองแผ่นดิน ผู้มีบุญญาธิการรุ่งเรือง
ความหมาย = กราบคำนับ(นบ)ผู้ปกครองแผ่นดิน(พระภูมิบาล) คุณความดี(บุญ) รุ่งเรือง(ดิเรก)

เอกบรมจักริน พระสยามินทร์
ภาษาปกติ = พระราชาผู้เป็นที่สุด หนึ่งในสยามประเทศ
ความหมาย = เอก(หนึ่ง)บรม(มาก)จักริน(พระราชา)

พระยศยิ่งยง
ภาษาปกติ = พระเกียรติคุณยิ่งใหญ่
ความหมาย = พระยศ(เกียรติยศ)ยิ่งยง(ยิ่งใหญ่ยืนยง)

เย็นศิระเพราะพระบริบาล
ภาษาปกติ = สุขสงบร่มเย็นใต้ร่มบารมี
ความหมาย = เย็นหัว(ศิระ)เพราะท่านปกครองเลี้ยงดู(บริบาล)

ผลพระคุณ ธ รักษา
ภาษาปกติ = ผลพระคุณท่านรักษา
ความหมาย = เป็นผลจากพระคุณของท่าน(ธ) ปกปักรักษา(รักษา)

ปวงประชาเป็นสุขศานต์
ภาษาปกติ = ประชาชนมีสันติสุข
ความหมาย = ปวงชน(ประชา)เป็นสุข สันติ(ศานต์)

ขอบันดาล
ภาษาปกติ = ขอให้เกิด
ความหมาย = ขอให้เกิด(บันดาล)

ธ ประสงค์ใด
ภาษาปกติ = ไม่ว่าท่านประสงค์สิ่งใด
ความหมาย = ไม่ว่าท่าน(ธ) ประสงค์สิงใด

จงสฤษฏ์ดัง หวังวรหฤทัย
ภาษาปกติ = ขอให้ทำได้เหมือนอย่างใจหวัง
ความหมาย = ขอจงสร้าง(สฤษฏ์)ให้เหมือน(ดัง)ใจหวัง

ดุจจะถวายชัย ชโย
ภาษาปกติ = ขอให้เป็นดั่งคำอวยพรด้วย ไชโย !
ความหมาย = ขอให้(ดุจ)เป็นดั่งคำอวยพร(ถวายชัย) ไชโย(ชโย)





เพลงชาติไทยพร้อมความหมาย

เพลงชาติไทย
เนื้อร้อง พร้อมคำแปล (สำหรับคนไทยที่รักชาติไทย)

ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย  เป็นประชารัฐ ไผทของไทยทุกส่วน

คำแปล: ประเทศไทยเป็นของคนไทยทุกคน ทุกรัฐ ทุกภาคส่วน ที่หลอมรวมด้วยเลือดเนื้อของวีรบุรุษชาวไทยจนมาเป็นชาติไทยทุกวันนี้

อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล  ด้วยไทยล้วนหมาย รักสามัคคี
คำแปล: ประเทศจะอยู่ได้ก็ด้วยคนไทยล้วนหมายสมัครสมานสามัคคี รักใคร่ ปองดอง  ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ไม่กดขี่ข่มเหงกันเอง

ไทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด  เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่
คำแปล: คนไทยเป็นคนที่รักสงบ แต่ในยามรบเราก็ไม่หวั่นเกรงต่อข้าศึก เราพร้อมจะลุกขึ้นสู้ต่อผู้ที่มารุกรานประเทศ หรือข่มเหงรังแก โดยไม่เสียดายชีวิต

สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี เถลิงประเทศชาติไทยทวี มีชัย ชโย
คำแปล: คนไทยพร้อมจะสละเลือดเนื้อทุดหยาดหยดโดยไม่เสียดาย เพื่อดำรงไว้ซึ่งความเป็นเอกราช ชาติไทยชั่วลูกชั่วหลานตลอดไป ไชโย



สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี


ศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ ดอกเตอร์ พลเอกหญิง พลเรือเอกหญิง พลอากาศเอกหญิง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี (2 เมษายน พ.ศ. 2498) เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2498 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (พระราชอุปัชฌาย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว) เป็นผู้ถวายพระนามว่า "สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์"

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2520 ในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการสถาปนาพระอิสริยศักดิ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ เฉลิมพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี" นับเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพระองค์แรก ที่ทรงดำรงฐานันดรศักดิ์ที่ “สยามบรมราชกุมารี” แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์

พระองค์มีพระปรีชาสามารถในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านอักษรศาสตร์และดนตรีไทย ซึ่งพระองค์ได้นำมาใช้ในการอนุรักษ์ ส่งเสริม และให้การอุปถัมภ์ในด้านศิลปวัฒนธรรมของประเทศ จากพระราชกรณียกิจในด้านศิลปวัฒนธรรมนี้ พระองค์จึงได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระสมัญญาว่า “เอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย” และ “วิศิษฏศิลปิน”[1] นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงประกอบพระราชกรณียกิจในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการศึกษา การพัฒนาสังคม โดยทรงมีโครงการในพระราชดำริส่วนพระองค์หลายหลากโครงการ ซึ่งโครงการในระยะเริ่มต้นนั้น มุ่งเน้นทางด้านการแก้ปัญหาการขาดสารอาหารของเด็กในท้องถิ่นทุรกันดาร และพัฒนามาสู่การให้ความสำคัญทางด้านการศึกษาเพื่อการพัฒนาราษฎร

พระราชสมภพ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2498 (ตรงกับวันขึ้น 10 ค่ำ เดือน 5 ปีมะแม สัปตศก) ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 3 ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์หม่อมหลวงเกษตร สนิทวงศ์ เป็นผู้ถวายพระประสูติกาล และได้รับการถวายพระนามจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ พร้อมทั้งประทานคำแปลว่า นางแก้ว อันหมายถึง หญิงผู้ประเสริฐ และมีพระนามที่ข้าราชบริพาร เรียกทั่วไปว่า ทูลกระหม่อมน้อย[3][4]

พระนาม "สิรินธร" นั้น นำมาจากสร้อยพระนามของสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ซึ่งเป็นสมเด็จพระราชปิตุจฉา (ป้า) ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

สำหรับสร้อยพระนาม "กิติวัฒนาดุลโสภาคย์" ประกอบขึ้นจากพระนามาภิไธยของสมเด็จพระบรมราชบุพการี 3 พระองค์ ได้แก่ "กิติ" มาจากพระนามาภิไธยของ "สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ" สมเด็จพระราชชนนี (แม่) ส่วน "วัฒนา" มาจากพระนามาภิไธยของ "สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า" (สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี) สมเด็จพระปัยยิกา (ย่าทวด) และ "อดุล" มาจากพระนามาภิไธยของ "สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก" สมเด็จพระอัยกา (ปู่)

การศึกษา
เมื่อปี พ.ศ. 2501 พระองค์ทรงเริ่มเข้ารับการศึกษาระดับอนุบาลที่โรงเรียนจิตรลดา ซึ่งตั้งอยู่ภายในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต และทรงศึกษาต่อในโรงเรียนจิตรลดาจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย[5] และ ในปี พ.ศ. 2515 ก็ทรงสอบไล่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ในแผนกศิลปะ ด้วยคะแนนสูงสุดของประเทศ[6]

หลังจากนั้น พระองค์ทรงสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสามารถทำคะแนนสอบเอนทรานซ์เป็นอันดับ 4 ของประเทศ[7] ซึ่งถือเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์แรกที่ทรงเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในประเทศ[8] จนกระทั่ง ปี พ.ศ. 2520 พระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง ด้วยคะแนนเฉลี่ย 3.98[6]

พระองค์ทรงเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ด้านจารึกภาษาตะวันออก (ภาษาสันสกฤต และภาษาเขมร) ณ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรและสาขาภาษาบาลีและสันสกฤต จาก ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระหว่างนั้น มีพระราชกิจมากจนทำให้ไม่สามารถทำวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาโทได้พร้อมกันทั้ง 2 มหาวิทยาลัย พระองค์จึงตัดสินพระทัยเลือกทำวิทยานิพนธ์เพื่อให้สำเร็จการศึกษาที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรก่อน โดยทรงทำวิทยานิพนธ์ห้วข้อเรื่อง “จารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง” ทรงสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต และเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2522 หลังจากนั้น พระองค์ทรงทำวิทยานิพนธ์หัวข้อเรื่อง “ทศบารมีในพุทธศาสนาเถรวาท” ทรงสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2524

พระองค์ทรงเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ณ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยพระองค์ผ่านการสอบคัดเลือกอย่างยอดเยี่ยมด้วยคะแนนเป็นอันดับหนึ่งในบรรดาผู้เข้าสอบทั้งหมด และทรงเป็นนิสิตปริญญาการศึกษาดุษฎีบัณฑิต สาขาพัฒนศึกษาศาสตร์ รุ่นที่ 4 พระองค์ทรงทำวิทยานิพนธ์ในหัวข้อเรื่อง “การพัฒนานวัตกรรมเสริมทักษะการเรียนการสอนภาษาไทยสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย” เนื่องจากพระองค์ทรงตระหนักว่าสภาพการเรียนการสอนภาษาไทยนั้นมีปัญหา เพราะนักเรียนไม่ค่อยสนใจเรียนภาษาไทย มีความรู้ ความสามารถ ทักษะในการเข้าใจและใช้ภาษาไม่เพียงพอ พระองค์จึงทรงนำเสนอวิธีการสอนภาษาไทยในลักษณะนวัตกรรมเสริมทักษะการเรียนการสอน เพื่อส่งเสริมความสนใจในการเรียนภาษาไทยของนักเรียนและเป็นสื่อที่จะช่วยให้ครูสอนภาษาไทยได้ง่ายขึ้น พระองค์ทรงสอบผ่านวิทยานิพนธ์อย่างยอดเยี่ยม สภามหาวิทยาลัยอนุมัติให้ทรงสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2529

การสถาปนาพระอิสริยศักดิ์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำริว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ ทรงได้รับความสำเร็จในการศึกษาอย่างงดงาม และทรงได้บำเพ็ญพระองค์ให้เป็นประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองเป็นอเนกปริยาย โดยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในภูมิภาคต่าง ๆ อยู่เสมอ ในด้านการพัฒนาบ้านเมือง เสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาและช่วยเหลือกิจการโครงการตามพระราชดำริทุกโครงการ พร้อมทรงรับพระบรมราโชบายมาทรงดำเนินการสนองพระเดชพระคุณในด้านต่าง ๆ นับเป็นการดูแลสอดส่องพระราชกรณียกิจส่วนหนึ่งต่างพระเนตรพระกรรณ ในด้านการพระศาสนา มีพระหฤทัยมั่นคงในพระรัตนตรัยและสนพระหฤทัยศึกษาหาความรู้ด้านพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นอย่างแตกฉาน ในส่วนราชการในพระองค์นั้น ก็ได้สนองพระเดชพระคุณในพระราชภารกิจที่ทรงมอบหมายให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระองค์นี้ กอปรด้วยพระจรรยามารยาท เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติแห่งขัตติยราชกุมารีทุกประการ เป็นที่รักใคร่นับถือ ยกย่องสรรเสริญพระเกียรติคุณกันอยู่โดยทั่ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศและพระอิสริยศักดิ์ให้สูงขึ้น ให้ทรงรับพระราชบัญชาและสัปตปฎลเศวตฉัตร (เศวตฉัตร 7 ชั้น) พร้อมทั้ง เฉลิมพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2520[6]

ในการสถาปนาพระอิสริยยศสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน ตั้งแต่เริ่มตั้งกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน การสถาปนาพระยศ "สมเด็จพระ" นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการสถาปนาพระยศของสมเด็จพระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง สมเด็จพระบรมอัยยิกาเธอ พระวิมาดาเธอ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ ในรัชกาลต่าง ๆ แต่การสถาปนาในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า ขึ้นเป็น "สมเด็จพระ" จึงเป็นพระเกียรติยศที่สูงยิ่ง




 พระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช       

 พระราชประวัติ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
      พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เสด็จพระราชสมภพ ณ โรงพยาบาลเมานท์ ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสสาชูเซสท์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือนอ้าย ปีเถาะ จุลศักราช ๑๒๘๙ ตรงกับวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๗๐ มีพระนามเดิมว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระราชโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชกรมหลวงสงขลานครินทร์(พระราชโอรส ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) และสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ซึ่งภายหลังทั้งสองพระองค์ได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธย เป็นสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระเชษฐภคินีและพระเชษฐา คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ประสูติเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๖๖ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ กับพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๖๘ ณ เมืองไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี
      เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๑ ได้โดยเสด็จสมเด็จพระบรมราชชนก ซึ่งทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิตเกียรตินิยม จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา เสด็จกลับประเทศไทย ประทับ ณ วังสระปทุม ต่อมาในวันที่ ๒๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๒ สมเด็จพระบรมราชชนกทิวงคต ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ทรงเจริญพระชนมายุได้ไม่ถึงสองพรรษา และเมื่อมีพระชนมายุได้ ๕ พรรษา ได้เสด็จเข้ารับการศึกษาชั้นต้น ณ โรงเรียนมาแตร์ เดอี กรุงเทพฯ จนถึงพุทธศักราช ๒๔๗๖ จึงเสด็จไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี พระเชษฐภคินีและพระเชษฐา เพื่อทรงศึกษาต่อในชั้นประถมศึกษา ในโรงเรียนเมียร์มองต์ ทรงศึกษาวิชาภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมันและภาษาอังกฤษ จากนั้นทรงเข้าศึกษาชั้นมัธยมศึกษา ณ เอกอล นูแวล เดอ ลา ชืออิส โรมองต์ เมืองแชลลี ชือ โลซานน์ ทรงได้รับประกาศนียบัตรทางอักษรศาสตร์จาก ยิมนาส กลาชีค กังโดนาล แห่งเมืองโลซานน์ แล้วทรงเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยโลซานน์ โดยทรงเลือกศึกษาในแขนงวิชาวิศวกรรมศาสตร์


ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน







แหล่งท่องเที่ยวจังหวัดสตูล

จังหวัดสตูลโชคดีที่มีธรรมชาติแวดล้อมด้วยภูเขาละทางทะเล  ด้านทิศใต้มีทิวเขาสันกาลาคีรีกั้นเขตแดนจังหวัดกับประเทศมาเลเซีย  ด้านทิศตะวันออกและทิศเหนือมีแนวทิวเขานครศรีธรรมราช  เป็นปราการกั้นเมืองเอาไว้  ส่วนทิศตะวันตกมีเส้นชายฝั่งทะเลยาวเหยียด  144.80  กิโลเมตร  มีเกาะจำนวน  105  เกาะ  สมญาจังหวัดนี้ว่าเมืองร้อยเกาะก็น่าจะได้  จังหวัดสตูลอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าไม้  ทั้งป่าธรรมชาติละป่าชายเลน  มีอุทยานแห่งชาติ 3  แห่ง  ดังนั้น  จึงมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย  แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจของจังหวัดมีดังต่อไปนี้

1.อุทยานแห่งชาติตะรุเตา ......มรดกแห่งอาเซียน

ต. เกาะสาหร่าย อ.เมือง
มื่อเอ่ยชื่อจังหวัดสตูล  ทุกคนต้องรู้จักเกาะตะรุเตา  เนื่องจากเป็นเกาะที่มีชื่อเสียงโด่งดังในประวัติศาสตร์  เมื่อสมัย  60  ปีที่แล้ว  เกาะแห่งนี้เคยใช้เป็นสถานที่กักกันนักโทษเป็นที่มาของโจรสลัดตะรุเตาที่อื้อฉาว  ล่วงมาเมื่อวันที่ 20 เมษายน  2517  ได้ประกาศจัดตั้งเป็น “ อุทยานแห่งชาติตะรุเตา” เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่  8  ถือเป็นอุทยานทางทะเลแห่งแรกและใหญ่ที่สุดของประเทศไทย  ต่อมาองค์การยูเนสโกได้ประกาศให้อุทยานแห่งชาติตะรุเตาเป็น “มรดกแห่งอาเซียน” ( ASEAN  Heritage  Parks and  Reserves ) เป็นสถานที่ที่ต้องช่วยกันดูแลรักษา  เพื่อให้ผู้คนทั่วโลกมาศึกษาและเยี่ยมชมตลอดไป

2.หมู่เกาะอาดัง-ราวี เกาะไข่ เกาะหินงาม เกาะยาง เกาะดง เกาะลองกวย



ต. เกาะสาหร่าย  อ.เมือง
หมู่เกาะอาดัง-ราวี เป็นเกาะกลุ่มสุดท้ายของอุทยานแห่งชาติตะรุเตา และเป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ จึงมีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เรือนแถวรับรอง ลานกางเต็นท์ และร้านอาหารที่อยู่ภายใต้การควบคุมของอุทยานฯ และยังมีชายหาดที่สวยงาม มีป่าไม้ที่สมบูรณ์ มีนกป่านานาชนิด รวมทั้งยังมีปะการังน้ำตื้นซึ่งเหมาะสำหรับการดำน้ำแบบสน๊อกเกิ้ล

3.เกาะหลีเป๊ะ
ต.เกาะสาหร่าย  อ.เมือง
หลีเป๊ะเพี้ยนมาจากคำภาษามลายู “นิปิส” แปลว่า “บาง”  เป็นชื่อเกาะเล็ก ๆ อยู่ห่างจากเกาะอาดังไปทางทิศใต้ราว 1 กิโลเมตร  มีขนาดเล็กกว่าเกาะอาดังประมาณหนึ่งเท่า  แต่เป็นเกาะที่มีความสำคัญ    เนื่องจากลักษณะของเกาะเป็นที่ราบทั่วไป  ส่วนที่เป็นภูเขามีเพียงเล็กน้อย  เกาะนี้จึงมีผู้คนอาศัยกว่าหนึ่งพันคนเป็นชาวเกาะหรือชาวพื้นเมืองเดิมรู้จักกันในชื่อ “ชาวเล” หรือ “ชาวน้ำ”  นั่นเอง   มีโรงเรียนตั้งอยู่บนเกาะแห่งนี้  เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมปีที่ 3 ชื่อโรงเรียนว่า “โรงเรียนบ้านเกาะอาดัง” ชื่อของโรงเรียนจึงไม่สอดคล้องกับชื่อเกาะ

4.ถ้ำลอดปูยู..........สตูลก็มีถ้ำลอดเหมือนพังงา

หมู่ที่ 2 ต. ปูยู อ.เมือง
ถ้ำลอดปูยูเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติทะเลบัน  ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 3  ตำบลปูยู  อำเภอเมืองสตูล  อยู่ห่างจากตัวจังหวัดราว  15  กิโลเมตร  การเดินทางไปเที่ยวที่ถ้ำแห่งนี้สะดวกที่สุดคือลงเรือที่ท่าเรือตำมะลัง  ซึ่งเป็นท่าเรือแห่งใหม่ของจังหวัดสตูล  เรือจะแล่นสู่ปากอ่าว  ลัดเลาะไปตามลำคลอง  สองข้างอุดมด้วยป่าโกงกาง  มองเห็นสันเขายาวเหยียด  พาดจากทิศตะวันตกไปยังทิศตะวันออก  คือทิวเขาสันกาลาคีรี  ซึ่งกั้นเขตประเทศไทยกับมาเลเซียไว้

5.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสตูล....ศูนย์รวมวัฒนธรรมเมืองสตูล
ต. พิมาน อ.เมือง
เป็นลักษณะอาคารตึก 2 ชั้น การก่อสร้างเป็นศิลปะที่ผสานกันอย่างสวยงาม คือ อาคารตัวตึกเป็นแบบตะวันตก ประตูหน้าต่างรูปโค้งสถาปัตยกรรมโรมัน หลังคาแบบช่องลมด้านบนตกแต่งรูปดาวซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบมุสลิม ภายในมีห้องจัดแสดงโบราณวัตถุและห้องจัดนิทรรศการ ให้ความรู้เรื่องศิลปวัฒนธรรม ประเพณี

6.อุทยานเขตพญาวัง........ปอดของเทศบาลเมืองสตูล

ต. พิมาน อ.เมือง
อุทยานเขตพญาวังหรือ “สวนสาธารณะโต๊ะพญาวัง”  เป็นสวนสาธารณะตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองสตูล  ปลายสุดของถนนคูหาประเวศน์  สภาพเป็นภูเขาหินปูนขนาดย่อม  มีลำคลองมำบังเลียบผ่านด้านตะวันตกของสวนสาธารณะเทศบาลได้ตัดถนนรอบภูเขา  ได้จัดสถานที่พักผ่อนเป็นสวนหย่อม ๆ ไว้หลายจุด  ปลูกต้นไม้เพื่อความสวยงาม มีถ้ำเล็ก ๆ ด้านตะวันตกของภูเขา บนภูเขามีป่าไม้เป็นที่อาศัยของฝูงลิงแสมจำนวนมาก  

7.มัสยิดกลางจังหวัดสตูล (มัสยิดมำบัง)

ต. พิมาน อ.เมือง
ตั้งอยู่ใจกลางเมืองสตูล มีลักษณะเด่นที่สวยงามคือ มีรูปทรงเป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบหินอ่อน และกระจกใสตัวอาคารแบ่งเป็นสองตอน คือ ด้านนอกเป็นระเบียง มีบันได้ขึ้นหอคอย ลักษณะเป็นยอดโดม สามารถมองเห็นทิวทัศน์เมืองสตูลได้ ด้านในเป็นห้องโถงใหญ่ใช้เป็นที่ละหมาด ชั้นล่างมีห้องใต้ดินเป็นห้องสมุด

8.อุทยานแห่งชาติทะเลบัน



ต. วังประจัน  อ. ควนโดน
ผืนป่าพรหมจารีแห่งเมืองสตูล  
อุทยานแห่งชาติทะเลบันตั้งอยู่ในหมู่ที่  4 ตำบลวังประจัน  อำเภอควนโดน  และพื้นที่ครอบคลุมถึงหมู่ที่ 3  ตำบลปูยู  อำเภอเมืองสตูล   จึงมีพื้นที่ส่วนที่เป็นภูเขากับส่วนที่เป็นป่าชายเลน  ครอบคลุมสองอำเภอ  ที่ทำการอุทยานตั้งอยู่ที่ทะเลบัน  ตำบลวังประจัน  ส่วนที่อำเภอเมืองสตูลมีเฉพาะหน่วยพิทักษ์อุทยาน  ตั้งอยู่ที่ท่าเทียบเรือตำมะลัง  อุทยานแห่งชาติทะเลบันได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยาน  เมื่อวันที่ 27  ตุลาคม  2523  จัดเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 20  ของประเทศไทย

9.อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา

หมู่ที่ 4  ต.ปากน้ำ อ. ละงู
ประกอบด้วยพื้นที่ชายฝั่งทะเลและเกาะน้อยใหญ่กว่า 22 เกาะ เช่น เกาะลิดี  เกาะเขาใหญ่ เกาะเภตรา และเกาะเหลาเหลียง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง  เป็นต้น บริเวณที่ทำการอุทยานตั้งอยู่ที่เวิ้งอ่าวธรรมชาติที่น่าท่องเที่ยวของอ่าวนุ่น มีบ้านพัก อาคารเอนกประสงค์ และมีสะพานไม้เลียบเชิงเขาที่ยื่นอยู่ในทะเล เพื่อชมธรรมชาติและความงามของทะเล

10.น้ำตกโตนปลิว....... น้ำตกที่ส่งสัญญาณให้ชาวบ้านทราบ

ต. วังประจัน  อ. ควนโดน
น้ำตกโตนปลิวตั้งอยู่ในหมู่ที่ 1  ตำบลวังประจัน  อำเภอควนโดน  ตั้งอยู่ตรงรอยต่อระหว่างป่าสงวนแห่งชาติหัวกาหมิง  เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้าง  จึงอยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติทะเลบัน  ต้นน้ำเกิดจากภูเขาหัวกาหมิง  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทิวเขานครศรีธรรมราช

11.ถ้ำเจ็ดคต......... ถ้ำมหัศจรรย์มีลำคลองลอดผ่าน

หมู่ที่ 6 ต.ปาล์มพัฒนา กิ่งอ.มะนัง
ถ้ำเจ็ดคตหรือ “ถ้ำสัตคูหา” ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 10  ตำบลน้ำผุด  อำเภอละงู  ด้านทิศเหนือของน้ำตก วังสายทองห่างไปราว  2  กิโลเมตร  ระยะห่างจากเขตเทศบาลตำบลกำแพง  38  กิโลเมตร  เส้นทางไปมาสะดวก  ลาดยางถึงบริเวณถ้ำ  จึงเดินทางไปท่องเที่ยวได้ตลอดปี  ถ้ำเจ็ดคตมีความกว้าง 70 – 80 เมตร ยาวประมาณ  600  เมตร  แบ่งออกเป็น  7  ช่วงหรือคูหา  บางช่วงมีความสูงของเพดานถ้ำ 100 – 200 เมตร มีลำคลองไหลผ่านในถ้ำ  คือ คลองมะนัง  ต้นน้ำเกิดจากถ้ำโตน   อยู่ทางเหนือของถ้ำป่าพน  อำเภอมะนัง  คลองมะนังไหลออกปากถ้ำไปบรรจบกับคลองละงู  ซึ่งมีต้นน้ำเกิดจากภูเขาในจังหวัดตรัง

12.ถ้ำภูผาเพชร...... เพชรเม็ดงามที่เจียรนัยแล้ว

หมู่ที่ 9 ต.ปาล์มพัฒนา กิ่งอ.มะนัง
ถ้ำภูผาเพชร  ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 9  บ้านควนดินดำ  ตำบลปาล์มพัฒนา  อำเภอมะนัง  อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอ 27  กิโลเมตร  ไปตามถนนที่ลาดยางตลอดสายจนถึงบริเวณถ้ำตั้งอยู่บนเทือกเขาหินปูน  ในเขตของทิวเขานครศรีธรรมราช  ซึ่งนิยมเรียกว่า  เขาบรรทัด  ปากถ้ำหันไปทางทิศตะวันออก  ทางขึ้นไม่ค่อยลาดชันนัก  ความสูงจากพื้นราบถึงปากถ้ำประมาณ 50 เมตร  ใช้เวลาในการเดินทางจากพื้นราบถึงจุดเข้าถ้ำราว  30  นาที


ประวัติความเป็นมาของจังหวัดสตูล

ประวัติความเป็นมาของจังหวัดสตูล
ประวัติความเป็นมาของจังหวัดสตูลในสมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา และในสมัยกรุงศรีอยุธยาไม่ปรากฏหลักฐานกล่าวไว้ ณ ที่ใด สันนิษฐานว่าในสมัยนั้น ไม่มีเมืองสตูล คงมีแต่หมู่บ้านเล็ก ๆ กระจัดกระจายอยู่ตามที่ราบชายฝั่งทะเล

ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สตูลเป็นเพียงตำบลหนึ่งอยู่ในเขตเมืองไทรบุรี ฉะนั้นประวัติความเป็นมาของจังหวัดสตูล จึงเกี่ยวข้องกับเรื่องราวของเมืองไทรบุรี ดังปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ ว่า "ตามเนื้อความที่ปรากฏดังกล่าวมาแล้ว ทำให้เห็นว่าในเวลานั้น พวกเมืองไทรเห็นจะแตกแยกกันเป็นสองพวก คือ พวกเจ้าพระยาไทรปะแงรันพวกหนึ่ง และพวกพระยาอภัยนุราชคงจะนบน้อมฝากตัวกับเมืองนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะเมื่อพระยาอภัยนุราชได้มาเป็นผู้ว่าราชการเมืองสตูล ซึ่งเขตแดนติดต่อกับเมืองนครศรีธรรมราช พวกเมืองสตูลคงจะมาฟังบังคับบัญชาสนิทสนมข้างเมืองนครศรีธรรมราชมากกว่าเมืองไทร แต่พระยาอภัยนุราชว่าราชการเมืองสตูลได้เพียง ๒ ปี ก็ถึงแก่อนิจกรรม ผู้ใดจะได้ว่าราชการเมืองสตูล ต่อมาในชั้นนั้นหาพบจดหมายเหตุไม่ แต่พิเคราะห์ความตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลัง เข้าใจว่าเชื้อพระวงศ์ของพระอภัยนุราช (ปัศนู) คงจะได้ว่าราชการเมืองสตูลและฟังบังคับบัญชาสนิทสนมกับเมืองนครศรีธรรมราชอย่างครั้งพระยาอภัยนุราชหรือยิ่งกว่านั้น"

เรื่องเกี่ยวกับเมืองสตูลยังปรากฏในหนังสือพงศาวดารเมืองสงขลา แต่ข้อความที่ปรากฏบางตอนเกี่ยวกับชื่อผู้ว่าราชการเมืองสตูล ไม่ตรงกับพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ ประวัติเกี่ยวกับเมืองสตูลในการจัดรูปแบบการปกครองเมือง ตามระบอบมณฑลเทศาภิบาลว่า ในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รักษาเมืองไทรบรี เมืองเปอร์ลิส และเมืองสตูลเป็นมณฑลเทศาภิบาล เรียกว่า "มณฑลไทรบุรี" โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาไทรบุรีรามภักดี เจ้าพระยาไทรบุรี (อับดุลฮามิต) เป็นข้าราชการเทศาภิบาลมณฑลไทรบุรี เมืองสตูลได้แยกจากเมืองไทรบุรีอย่างเด็ดขาด ตามหนังสือสัญญาไทยกับอังกฤษเรื่องปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับสหพันธรัฐมาลายู ซึ่งลงนามกันที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ร.ศ.๑๒๗ (พ.ศ. ๒๔๕๒) จากหนังสือสัญญานี้ยังผลให้ไทรบุรีและปลิสตกเป็นของอังกฤษ ส่วนสตูลคงเป็นของไทยสืบมาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อปักปันเขตแดนเสร็จแล้ว ได้มีพระราชโองการโปรดให้เมืองสตูลเป็นเมืองจัตวารวมอยู่ในมณฑลภูเก็ต เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ร.ศ.๑๒๘ (พ.ศ. ๒๔๕๓)
   

ในปีพุทธศักราช ๒๔๗๕ ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย เมืองสตูลก็มีฐานะยกเป็นจังหวัดหนึ่งอยู่ในราชอาณาจักรไทยสืบต่อมาจนถึงกระทั่งทุกวันนี้
   

คำว่า"สตูล" มาจากคำภาษามาลายูว่า "สโตย" แปลว่ากระท้อน อันเป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่ขึ้นอยู่ชุกชุมในท้องที่เมืองนี้ ซึ่งต่อมาได้รับการตั้งสมญานามเป็นภาษามาลายูว่า "นครสโตยมำบังสการา (Negeri Setoi Mumbang Segara) " หรือแปลเป็นภาษาไทยว่า สตูล เมืองแห่งพระสมุทรเทวา  ดังนั้น "ตราพระสมุทรเทวา" จึงกลายเป็นตราหรือสัญลักษณ์ของจังหวัดมาตราบเท่าทุกวันนี้

 จังหวัดสตูล แม้จะอยู่รวมกับไทรบุรีในระยะเริ่มแรกก็ตาม แต่จังหวัดสตูลก็เป็นจังหวัดที่มีดินแดนรวมอยู่ในประเทศไทยตลอดมา ระยะแรก ๆ จังหวัดสตูล แบ่งเขตการปกครองออกเป็น ๒ อำเภอ กับ ๑ กิ่งอำเภอ คือ อำเภอมำบัง อำเภอทุ่งหว้า และกิ่งอำเภอละงู ซึ่งอยู่ในการปกครองของอำเภอทุ่งหว้า ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ได้เปลี่ยนชื่ออำเภอมำบังเป็นอำเภอเมืองสตูล สำหรับอำเภอทุ่งหว้า ซึ่งในสมัยก่อนนั้นเจริญรุ่งเรืองมาก มีเรือกลไฟจากต่างประเทศติดต่อ ไปมาค้าขายและรับส่งสินค้าเป็นประจำ สินค้าสำคัญของอำเภอทุ่งหว้า คือ "พริกไทย" เป็นที่รู้จักเรียกตามกันในหมู่ชาวต่างประเทศว่า"อำเภอสุไหวอุเป " ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๕๗ การปลูกพริกไทยของอำเภอทุ่งหว้าได้ลดปริมาณลง ชาวต่างประเทศที่เข้ามาทำการค้าขายต่างพากันอพยพกลับไปยังต่างประเทศ ราษฎรในท้องที่ก็พากันอพยพไปหาทำเลทำมาหากินในท้องที่อื่นกันมากโดยเฉพาะได้ย้ายไปตั้งหลักแหล่งที่กิ่งอำเภอละงูมากขึ้น ทำให้ท้องที่กิ่งอำเภอละงูเจริญขึ้นอย่างรวมเร็ว และในทางกลับกัน ทำให้อำเภอทุ่งหว้าซบเซาลง

 ครั้งถึง พ.ศ. ๒๔๗๓ ทางราชการพิจารณาเห็นว่ากิ่งอำเภอละงูเจริญขึ้น มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นกว่าอำเภอทุ่งหว้า จึงได้ประกาศยกฐานกิ่งอำเภอละงูเป็นอำเภอ เรียกว่า อำเภอละงู และยุบอำเภอทุ่งหว้าเดิมเป็นกิ่งอำเภอทุ่งหว้า เรียกว่า กิ่งอำเภอทุ่งหว้า ขึ้นอยู่ในการปกครองของอำเภอละงู ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ กิ่งอำเภอทุ่งหว้าจึงได้รับสถานะเดิมกลับคืนมาเป็นอำเภอทุ่งหว้า

ปัจจุบันจังหวัดสตูล แบ่งการปกครองออกเป็น ๗ อำเภอ  คือ
๑. อำเภอเมืองสตูล
๒. อำเภอละงู
๓. อำเภอควนกาหลง
๔. อำเภอทุ่งหว้า
๕. อำเภอควนโดน
๖. อำเภอท่าแพ
๗. อำเภอมะนัง